ผีเสื้อ ดักแด้ หนอนบุ้ง…และวิธีแก้พิษบุ้ง
สำหรับท่านที่เกลียดบุ้ง ไม่ชอบหนอน อยากให้ท่านอดทนอ่านเรื่องนี้ เพราะมันมีประโยชน์ต่อท่านมากๆครับ หนอนบุ้ง เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน มีขนยาวๆขึ้นที่ลำตัวมากกว่าหนอนธรรมดา บุ้งบางชนิดมีขนที่เป็นพิษร้ายแรง บางคนอาจไม่มีอาการแพ้ใด ๆ เมื่อสัมผัสถูกขนพิษของมัน แต่บางคนก็มีอาการรุนแรงมาก นอกจากนี้บางคนทีเคยแพ้หนอนบุ้งบางชนิด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแพ้พิษของหนอนบุ้งทุกตัวเสมอไป
ลุงชาติมักจะปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆน้อยๆเอาไว้เสมอ บางวันก็ได้อาศัยเก็บมาทำอาหารง่ายๆได้กินเองบ้าง บุ้งตัวนี้มาแอบกินใบกวางตุ้งที่ปลูกเอาไว้ ชื่อหนอนบุ้งหูแดง ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ อายุ 5 วันนับจากวันที่ออกจากไข่ แต่ไม่ว่าจะเป็นหนอนบุ้งพันธุ์ใด มีชื่อเรียกว่าอะไร จะมีพิษภัยอยู่ที่ขนในทุกระยะอายุ หรือ มีพิษในตัวเองทุกระยะของการเจริญเติบโต ในภาพนี้บุ้งได้ลอกคราบส่วนหางออกมาเปราะหนึ่ง จะเห็นคราบอยู่บนใบกวางตุ้งที่อยู่ใต้ตัวบุ้ง คนละด้านกับตัวบุ้ง
…………………………………………………………………………………
ระยะตัวหนอน
หนอนบุ้ง เป็นแมลงศัตรูพืช เป็นหนอนมีพิษไม่ควรจับด้วยมือเปล่า
……………………………………………………………………………………
ผีเสื้อหนอนบุ้งหูแดง เป็นแมลงศัตรูพืช หนอนวัยแรกๆ มีจุดสีแดงอยู่ข้างหู เป็นที่มาของชื่อบุ้งหูแดง มีขนที่ด้านข้างปล้องท้องปล้องที่ 1–2 มีสองสี คือสีขาว และสีดำ เป็นหนอนมีพิษไม่ควรจับด้วยมือเปล่า บุ้งตัวนี้ยังมีขนาดเล็กอยู่ ลำตัวยาวประมาณ 1.5 ซม.ไม่รวมขนยาวๆ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัวไม่เกิน 2 มม. ภาพนี้ถ่ายขยายให้เห็นวิธีที่บุ้งกัดกินใบกวางตุ้งเป็นอาหาร มักจะซ่อนตัวอยู่ตามใต้ใบ กัดกินใบ เราจึงมองไม่ค่อยเห็น (หนอนบุ้งแต่ละเผ่าพันธุ์ จะกินใบพืชต่างกัน แล้วแต่ว่าเผ่าพันธุ์ไหน จะกินพืชชนิดไหน)
ที่ลำตัวของหนอนบุ้งจะมีขนตั้งอยู่เป็นแผง ขนเหล่านี้ภายในเป็นท่อกลวงและมีน้ำพิษ เมื่อไปสัมผัสเข้าน้ำพิษนี้จะถูกฉีดเข้าสู่ผิวหนัง ทำให้คัน ลมพิษขึ้น ปวดแสบปวดร้อน ผีเสื้อหนอนบุ้งหลายชนิดมีพิษทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยปลอกหุ้มดักแด้ก็จะมีขนพิษติดอยู่ รวมทั้งขนที่ปีก และคราบที่ลอกออกมาก็ยังมีพิษหลงเหลืออยู่ หลังจากลอกคราบไปคราวที่แล้ว บุ้งจะยังมีการลอกคราบอีก จะลอกคราบกี่ครั้งก็แล้วแต่ชนิดเผ่าพันธุ์ของบุ้งเอง อีกสองวันต่อมา ตอนตีสามห้าสิบนาที 03.50 น. บุ้งตัวนี้ก็ลอกคราบอีก โดยใช้ส่วนก้นยึดติดกับใบกวางตุ้งตามภาพด้านซ้าย แล้วจึงลอกคราบให้ตัวหลุดออกมาทางส่วนหัว ตามภาพด้านขวา
เมื่อสัมผัสถูกขนพิษของหนอนบุ้ง จะทำให้เกิดอาการแสบร้อนทันที เนื่องจากในขนพิษ มีสารพิษที่ทำให้เกิดผื่นแพ้ขึ้นที่ผิวหนัง จากนั้นจะบวม ชา เป็นผื่นลมพิษ พิษจะกระจายไปบริเวณข้างเคียง ทำให้เกิดการอักเสบ บวม เช่น ที่ต่อมน้ำเหลือง อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ชา เป็นอัมพาต และ ช้อค ได้ อาการจะเป็นมากในผู้ที่มีประวัติแพ้ ในกรณีขนพิษเข้าไปในลูกตาอาจทำให้ตาบอดได้
ภาพชุดนี้ต้องนอนหงาย นอนตะแคงถ่ายภาพ เพราะบุ้งอยู่ใต้ใบ ก่อนถ่ายภาพ เตรียมยาไว้ให้พร้อมใกล้ๆตัว และควรใส่แว่นตาป้องกัน ใช้แว่นสำหรับใส่ว่ายน้ำก็ได้ เพราะถ้าขนบุ้งเข้าตาแล้วจะอันตรายมาก เมื่อบุ้งลอกคราบเสร็จ ก็หันกลับมาดูคราบของตัวเอง แล้วสักพัก บุ้งก็แสดงอาการ บิดตัวไปมา
ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ส่วนหัวและส่วนก้นของบุ้งมีสีสดขึ้น ผิวใสขึ้น แผงขนบนส่วนหลังของบุ้งที่มีสีเหลืองปนขาว จากเดิมมีอยู่สามแผง พอลอกคราบออกมาแล้ว แผงขนมีเพิ่มขึ้นมาเป็นสี่แผง บุ้งบิดตัวไปมา เหมือนกับแสดงอาการที่ผิวหนังเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดอาการระคายเคือง บิด ดิ้น อยู่สักพัก บุ้งก็เกาะนิ่งอยู่ใต้ใบกวางตุ้ง วันรุ่งขึ้น บุ้งก็กัดกินใบกวางตุ้งตามปกติ ผิวหนังส่วนหัวก็กลับมามีสีคล้ำขึ้น
พิษของบุ้ง บางคนที่ถูกขนของบุ้งเพียงนิดเดียว แต่กลับเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนเข้าไปถึงเส้นประสาทใต้ผิว มันจะปวดแปร๊บๆและเจ็บแสบเหมือนมีเข็มเล็กๆทิ่มแทงเข้าผิวหนัง ใช้น้ำล้างพิษก็ไม่หาย บางคนใช้น้ำยาล้างจานล้าง อาการอาจดีขึ้นประมาณ 10% บางคนอาจปวดและเจ็บแสบอยู่เพียง 3–4 นาที ก็ขึ้นตุ่มใส ๆ ตรงบริเวณที่ปวด ถ้าตุ่มแตก ก็อาจเป็นแผลเป็น
วันนี้บุ้งมีอายุสิบวัน ตัวโตขึ้นกว่าเดิมมาก ตัวยาวประมาณ 3 ซม.ได้แล้วไม่รวมขน ตัวอ้วนขึ้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4ถึง 5 มม. มันกินเก่งมาก มันเปลี่ยนไปกินกวางตุ้งต้นใหม่แล้ว
ดูกันให้ชัดไปเลยว่าบุ้งกินเก่ง
กินได้ดุเดือดขนาดไหน
พฤติกรรมการกินเหลือเกินจริงๆ
กินต่อเนื่องมาจากรูปที่แล้ว
กินจนเหลือแต่โคนก้าน
การปฐมพยาบาล การแก้พิษบุ้ง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน
การรักษาอาการพิษจากขนพิษของหนอนผีเสื้อ
ทำได้โดยการดึงเอาขนพิษออกด้วยเทปกาว
ล้างบริเวณที่ถูกสัมผัสด้วยน้ำกับสบู่ให้ทั่ว
ใช้สำลีชุบแอมโมเนียเช็ดให้ทั่วบริเวณที่ถูกพิษ
ใช้น้ำแข็งหรือแผ่นประคบความเย็น ประคบบริเวณที่ถูกพิษ
ทาด้วยครีมแก้แพ้ ให้กินยาแก้แพ้ (antihistamine) ยาระงับปวด
ในรายที่แพ้มากให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
นี่คือวิธีใช้ผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน
เนื้อหาต่อไปจะบอกวิธี การแก้พิษบุ้ง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร
วันนี้บุ้งมีอายุ 11 วัน ตัวมันโตขึ้นอีก
มันกัดกินใบกวางตุ้งใบสุดท้ายของต้นที่สอง
ภาพทางซ้ายมือคือสุดท้ายเหลือแต่ก้านด้วนๆ
มันกินเฉพาะใบล้วนๆเหลือก้านเอาไว้
แล้วมันก็จะเริ่มไปกินต้นที่สามต่อไป
บุ้งเปลี่ยนมากินกวางตุ้งต้นที่สามแล้ว เป็นคนละพันธุ์กับสองต้นแรก
คราวนี้มันกิน กวางตุ้งฮ่องเต้ ปล่อยให้บุ้งกินไปตามสบาย
……………………………………………………………………………………….
เรามาดูวิธีแก้พิษบุ้ง โดยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรกัน
ปัจจุบันมียาหม่องหลายประเภท ยาหม่องหรือยาประเภทร้อนๆ ไม่มีทางจะดับพิษมันได้ แต่มียาหม่องสมุนไพรที่ใช้ทาเมื่อถูกแมลงมีพิษกัดต่อยเช่นยาหม่องเสลดพังพอน พอทาได้ ก็ลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ แต่ยังรู้สึกตุบๆ เจ็บใต้ผิวอยู่ ประมาณ 5ถึง 10 นาที ตุ่มก็หาย แต่อาจยังคงมีด่างคล้ำๆ เล็กน้อยปรากฏให้เห็น ท่านสามารถจะใช้ ใบเสลดพังพอนมาขยี้ทาสดๆเลยก็ได้ แต่จะขอแนะนำ ให้ใช้ใบตำลึงแก่สักสองสามใบมาขยี้แล้วทาลงไปที่แผลซึ่งกำลังคันปวดแสบปวดร้อนอยู่นั่นแหละ มีน้ำเป็นยางเขียวๆ ออกมา รู้สึกเย็นดี ชั่วระยะเพียงสองสามนาทีที่ขยี้เสร็จก็หายปวดแสบปวดร้อนทันที สรรพคุณดีเป็นเลิศ ใช้ได้ผลดีมาก บางคนบอกว่าได้ผลดีกว่าเสลดพังพอน
หลังจากที่ทราบวิธีแก้พิษบุ้งกันแล้ว
เราลองมาติดตาม วิวัฒนาการของหนอนบุ้งหูแดงตัวนี้กันต่ออีกสักนิดดีไหม
………………………………………………………………………………………
ระยะดักแด้
วันนี้บุ้งมีอายุ 12 วัน เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่แล้ว ตั้งแต่เวลาตีสี่ 04.00 น.บุ้งได้ชักใยเส้นเล็กๆออกมาโยงระหว่างใบกวางตุ้งแต่ละใบ คงได้เวลาเข้าดักแด้แล้ว บุ้งปล่อยใยเส้นเล็กออกมายึดติดกันเป็นลักษณะตาข่าย โยงไปโยงมาเป็นเกราะป้องกันตัวเอง
เมื่อบุ้งได้ชักใยเส้นเล็กๆออกมาโยงระหว่างใบกวางตุ้งแต่ละใบให้ยึดติดกันแล้ว มันก็เริ่มสานใยไปโดยรอบบริเวณเส้นใยหลักนั้น สานใยให้ครอบคลุมตัวมันเอง บุ้งมีการหยุดพักบ้าง มันหยุดเกาะนิ่งอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้กินอาหาร แล้วก็สานใยต่อ สลับหยุดนิ่งอีกหลายครั้ง
ตามที่เคยบอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า บุ้งหลายชนิดมีพิษทุกระยะของการเจริญเติบโต โดยปลอกหุ้มดักแด้ก็จะมีขนพิษติดอยู่ ช่วงเวลา บ่ายโมงเศษ บุ้งก็ได้เอาขนพิษมาติดไว้ที่ปลอกหุ้มดักแด้ ที่เห็นเป็นเส้นมีปุ่มดำๆ พร้อมทั้งสานใยต่อไปจนเป็นโครงรูปกลมๆรีๆ โครงดักแด้เริ่มเป็นรูปร่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเวลา 16.30 น.ภายในโครงดักแด้จึงนิ่งสงบลง บุ้งได้เข้าสู่ระยะดักแด้เรียบร้อยแล้ว บุ้งใช้เวลาสร้างโครงดักแด้ไปทั้งหมด 12 ชั่วโมงครึ่ง โดยที่มันไม่ได้กินอะไรเลย ผลสุดท้ายของโครงดักแด้รูปวงรีคล้ายลูกรักบี้มีขนาดยาวประมาณ 2.50 ซม. ด้านกว้างขนาดประมาณ 1.50 ซม. ต่อจากนี้ไปเราคงต้องรอเวลาจนกว่าบุ้งที่เข้าดักแด้นี้จะกลายมาเป็นตัวผีเสื้อ
ระยะผีเสื้อ (ตัวเต็มวัย)
เจ็ดวันต่อมา เวลาตีสามเศษๆ 03.05 น. บุ้งที่เข้าดักแด้อยู่ก็ออกมาเกาะอยู่ที่โครงดักแด้แล้ว เป็นผีเสื้อกลางคืน ไม่รู้มาก่อนว่ามันจะออกมาเมื่อไร ทำได้แค่กะประมาณเอา โดยนับวันได้ 5 วันก็เริ่มเฝ้าดูบ่อยๆเท่าที่จะทำได้ พอครบกำหนด 7 วันก็คอยมาดูมันทุกชั่วโมงด้วยนาฬิกาปลุก เริ่มปลุกตั้งแต่ 4ทุ่มเป็นต้นมา กว่าจะตั้งกล้องเซ็ตหน้ากล้องเสร็จ ถ่ายภาพที่เกาะดักแด้ไว้ได้ภาพเดียว ผีเสื้อก็ย้ายที่
ผีเสื้อย้ายที่มาเกาะที่กลางกิ่งไม้ ในช่วงแรกปีกยังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไร พอปีกแข็งแรงขึ้น มันก็ย้ายไปอีก คราวนี้มันเลือกเกาะตรงส่วนที่มีกิ่งก้าน มีปุ่มของเปลือกไม้ สีสันของพื้นที่ที่มันเลือกช่างกลมกลืนไปกับตัวมันเองจริงๆ มันอาศัยกิ่งไม้เป็นที่พรางตา
ภาพนี้ถ่ายเปรียบเทียบให้เห็นว่าผีเสื้อพรางตาได้แนบเนียนเพียงได ภาพทางด้านซ้าย ถ้าไม่สังเกตดีๆ แทบจะมองไม่ออกเลยว่ากิ่งไม้มีผีเสื้อเกาะอยู่ ภาพนี้ไม่ได้ใช้แฟลชช่วยในการถ่ายภาพ ส่วนภาพทางด้านขวา เปิดแสงแฟลชช่วยเพื่อให้เห็นมิติรูปทรงได้ดียิ่งขึ้น ทำให้แยกความแตกต่างออกมาได้มากขึ้น
ผีเสื้อตัวเล็กๆ มีพิษในตัวเองมาทุกระยะของการเจริญเติบโต มันเลือกใช้วิธีหลบวิธีหลีกเลี่ยงศตรูด้วยการพรางตัว ไม่ให้ศตรูเห็นได้ง่ายๆ แตกต่างจากมนุษย์มากมาย
มนุษย์มักเลือกวิธีทำลายล้างศตรู คิดวิธีต่างๆนาๆด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างอาวุธ สร้างสารเคมีมากมายเพื่อกำจัดศตรู
ไม่ว่าจะเป็นศตรูพืชที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์ หรืออาจใช้เข่นฆ่ามนุษย์ด้วยกันเอง….หวังว่า จะไม่มีวันที่มนุษย์ต้องถูกล้างเผ่าพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างกันขึ้นมาเองนะ….
แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปนะครับ